เฉลยโจทย์ประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 3

นี่คือเฉลยของโจทย์ประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 2 เราได้ให้ข้อคิดเห็นสำหรับโจทย์แต่ละข้อ รวมทั้งระดับความยาก \beta in [1,5] โดยโจทย์ค่ายสอวน. จะมี \beta ประมาณ 1-2, โจทย์ TMO ปกติ จะมี \beta ประมาณ 1-3, โจทย์ค่ายตุลาคม จะมี \beta ประมาณ 2-4 และโจทย์ IMO จะมี \beta ประมาณ 3-5

E3 [ดัดแปลงจาก IMO 2006 P4] (\beta =1.5)

จงแสดงว่าถ้า ​p>3 เป็นจำนวนเฉพาะ แล้ว 2^{p-2}+3^{p-2}+6^{p-2}-1 หารด้วย p ลงตัว

เฉลย จาก p>3 จะได้ \gcd (p,2)=\gcd (p,3)=1  จากทฤษฎีบทเล็กของแฟร์มาต์ จะได้ว่า a^{p-1} \equiv 1\pmod{p} ดังนั้น a^{p-2}\equiv \frac{1}{a} \pmod{p} สำหรับ  a=2,3,6  เพราะฉะนั้น

2^{p-2}+3^{p-2}+6^{p-2}\equiv \frac{1}{2}+\frac{1}{3}+\frac{1}{6}=1\pmod{p}\quad \blacksquare

ข้อคิดเห็น โจทย์ข้อนี้เป็นตัวอย่างของการใช้เศษส่วนในมอดุโลจำนวนเฉพาะ p ซึ่งเป็นเทคนิคที่มีประโยชน์แต่มักถูกมองข้าม

M3 [Bulgaria TST 2005] (\beta = 3.4)

จงหาจำนวนสับเซต B ของเซต \{ 1,2,...,2005\} ที่ผลรวมสมาชิกของ B หารด้วย 2048 แล้วเหลือเศษ 2006

เฉลย คำตอบคือ 2^{1994} ซึ่งแสดงได้ดังนี้

ให้ S = \{1,2,\ldots, 2005\} \setminus \{2^0,2^1,\ldots ,2^{10}\} และสังเกตว่าสำหรับสับเซต B' ใดๆ ของ S จะมีเซต B เพียงเซตเดียว ที่ B เกิดจาก B' รวมกับสับเซตของ \{ 2^0,2^1,\ldots ,2^{10} \} และผลรวมสมาชิกของ B หารด้วย 2048 แล้วเหลือเศษ 2006 (ข้อสังเกตนี้เป็นจริงเพราะสำหรับแต่ละจำนวนเต็ม a=0,1,2,...,2047 จะมีสับเซตของ \{2^0,2^1,\ldots ,2^{10}\} สับเซตเดียวพอดีที่มีผลรวมสมาชิกเป็น a)  จากข้อสังเกตจะได้ว่า จำนวนสับเซต B ที่เราต้องการนับ เท่ากับจำนวนสับเซตของ S ซึ่งคือ 2^{2005-11}. \quad \blacksquare

ข้อคิดเห็น ข้อสังเกตที่สำคัญในการทำโจทย์ข้อนี้คือ เราสามารถควบคุมเศษที่เหลือจากการหารด้วย 2048 โดยใช้เพียงแค่กำลังของสอง ซึ่งเมื่อได้ข้อสังเกตแล้ว ก็จะทำให้โจทย์ที่ดูซับซ้อนกลายเป็นตรงไปตรงมาในทันที

H3 [reddit] (\beta = 54.3)

ในแต่ละตา จากคู่อันดับของจำนวนเต็มบวก (a,b) คุณสามารถเดินไปยัง (a+1,2b) หรือ (2a,b+1)  จงแสดงว่าถ้าคุณเริ่มจากคู่อันดับ (m,n) ใดๆของจำนวนเต็มบวก คุณจะสามารถเดินไปยังคู่ของจำนวนเต็มบวกที่เท่ากันได้

เฉลย [@Lopsidation ที่ reddit] เราจะเรียกการเดิน (a,b)\rightarrow (a+1,2b) ว่าเป็นแบบ 1 และเรียกการเดิน (a,b)\rightarrow (2a,b+1) ว่าเป็นแบบ 2 ต่อมา เราจะเรียกคู่อันดับของจำนวนเต็มบวก (x,2^dx+k) ว่าเป็นประเภท (d,k) สำหรับจำนวนเต็มไม่ติดลบ d และจำนวนเต็ม k

เป็นการเพียงพอที่จะแสดงว่าสำหรับจำนวนเต็มบวก k ใดๆ ถ้าเราเริ่มจากคู่อันดับที่มีประเภท (0,k) โดย k เป็นจำนวนเต็มบวกแล้ว เราจะสามารถเดินไปยังคู่อันดับที่มีประเภท (0,m) สำหรับบาง -k< m<k ได้ (*)

(หมายเหตุ: เพราะรูปแบบที่เราเดินได้ สมมาตรบนตัวแปร a,b ถ้าเราต้องเริ่มจาก (x,y) เราจึงสามารถบอกว่าเราจะเริ่มจาก (y,x) แทน และสลับแบบการเดินของเรา (จากแบบ 1\to 2, 2\to 1) ซึ่งทำให้เราสามารถเปลี่ยนคู่อันดับประเภท (0,-k) เป็นประเภท (0,k) ได้)

สังเกตว่าการเดินแบบ 1 จะเปลี่ยนคู่อันดับประเภท (d,k) เป็นประเภท (d-1,k+1) และการเดินแบบ 2 จะเปลี่ยนคู่อันดับประเภท (d,k) เป็น (d+1,2k-2^{d+1})

ดังนั้นถ้า \ell เป็นจำนวนเต็มบวกใดก็ได้ที่ไม่เกิน k เราจะสามารถเดินและเปลี่ยนประเภทของคู่อันดับได้ดังนี้:

(0,k)\rightarrow_2 (1,2^1k-1\times 2^1)\rightarrow_2 (2,2^2k-2\times 2^2)\rightarrow_2 \ldots \rightarrow_2 (k,2^{k}k-k\times 2^{k})=\\(k,0)\rightarrow_{1} (k-1,1) \rightarrow_1 (k-2,2)\rightarrow_1 \ldots \rightarrow_1 (\ell -1,k-\ell +1) \rightarrow_2 \\ (\ell ,2k-2^{\ell} -2\ell+2) \rightarrow_1 (\ell -1,2k-2^{\ell}-2\ell +3)\rightarrow_1 \ldots \rightarrow_1 (0,2k-2^{\ell}-\ell +2).

สังเกตว่าถ้ามี \ell ที่สอดคล้อง -k<2k-2^{\ell}-\ell +2<k ก็จะได้ว่าเราสามารถทำ (*) ได้ทันที ซึ่งเงื่อนไขนี้สมมูลกับ k<2^{\ell} +\ell -2<3k.

สำหรับจำนวนเต็มบวก \ell ใดๆ ให้ f(\ell )=2^{\ell} +\ell -2  เราจะได้ว่า f(k)>k สำหรับทุก k\geq 2 และ \frac{f(i+1)}{f(i)} \leqslant 3 สำหรับทุก i\geq 2 ดังนี้นถ้า 3k\geqslant f(2)=4 เราจะสามารถเลือกค่า \ell ที่เราต้องการได้

ดังนั้นจะเหลือเพียงกรณีเดียวคือ k=1 ซึ่งเราสามารถสมมติให้คู่อันดับของเราเป็น (x,x+1) สำหรับบางจำนวนเต็มบวก x และในกรณีนี้ เราสามารถเดินดังนี้ได้

(x,x+1)\rightarrow_1 (x+1,2x+2)\rightarrow_1 (x+2,2x+4)\rightarrow_2 (2x+4,4x+5)\rightarrow_2 (4x+8,4x+6)\rightarrow_2 (8x+16,4x+7)\rightarrow_2 (16x+32,4x+8)\rightarrow_1 (16x+33,8x+16)\rightarrow_2 (32x+66,8x+17)\rightarrow_1 (32x+67,16x+34)\rightarrow_1 (32x+68,32x+68),

เพราะฉะนั้นเราจึงสามารถทำ (*) ได้เสมอ \blacksquare

ข้อคิดเห็น โจทย์ข้อนี้มาจากกระทู้หนึ่งบนเว็บไซต์ reddit ตามลิงก์นี้: Doubling and adding 1.  เราเลือกโจทย์ข้อนี้มาเพราะเป็นโจทย์ที่เข้าใจได้ง่ายมาก แต่วิธีทำค่อนข้างยาก และโจทย์ข้อนี้มาจากแหล่งโจทย์ที่ไม่ได้พบได้ทั่วไป กล่าวคือมาจากเว็บไซต์แสดงความคิดเห็นธรรมดาๆ เว็บหนึ่ง เราจึงอยากนำแหล่งโจทย์เหล่านี้มาเผยแพร่ และอยากแสดงให้ท่านผู้อ่านเห็นว่าโจทย์คณิตศาสตร์นั้นมีที่มาได้จากทุกที่

Leave a comment